"สะท้อนแนวคิด CEO ‘ไบโอแลป’ เส้นทางความสำเร็จกว่า 40 ปีในอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร"

‘ไบโอแลป’ บริษัทที่คร่ำหวอดอยู่ในอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร และเป็นที่ยอมรับจากนานาประเทศด้วยกระบวนการผลิตเวชภัณฑ์ยา อาหารเสริม ที่มีการควบคุมคุณภาพภายใต้มาตรฐานโลก EU GMP (PIC/S) ทั้งยังเป็นบริษัทไทยรายแรกที่มี Health Sciences Authority Republic of singapore(HAS) เป็นผู้รับรอง
Bangkok Bank SME ได้รับเกียรติ ร่วมพูดคุยกับผู้บริหาร ถึงวิสัยทัศน์การดำเนินธุรกิจและ Business Model ที่ดี จนนำพาบริษัทก้าวสู่ความสำเร็จกว่า 30 ปี ติดตามได้ในบทความนี้

คุณรชฎ ถกลศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัทไบโอแลป จำกัด ผู้ผลิตยารายใหญ่ระดับประเทศของไทย และทายาทธุรกิจครอบครัว เจน 2 โดยรับช่วงต่อจากรุ่นพ่อและแม่ที่เป็นผู้ก่อตั้งธุรกิจยาแห่งนี้

 ซึ่งจากเดิม คุณพ่อเป็นเจน 3 ของครอบครัวที่ประกอบธุรกิจโรงเลื่อย แต่เนื่องจากคุณปู่ เสียชีวิตตั้งแต่อายุยังไม่มาก คุณพ่อจึงต้องรับช่วงต่อแม้ขณะนั้นท่านยังไม่มีประสบการณ์ด้านการบริหารธุรกิจเท่าที่ควร 

 ทำให้โรงเลื่อย เกิดสะดุดชั่วคราวและใช้เวลาพอสมควรกว่าจะกลับมาฟื้นตัวจนประสบความสำเร็จอีกครั้ง หลังจากคุณพ่อได้รับสัมปทานให้ทำธุรกิจที่จังหวัดเพชรบูรณ์ จนถือได้ว่ามาถึงจุดรุ่งเรืองที่สุดของโรงเลื่อย

 แต่คุณพ่อกลับมองว่าการตัดไม้จะทำให้ธุรกิจไม่เกิดความยั่งยืน แม้การได้สัมปทานจะระบุเงื่อนไขว่าเจ้าของจะต้องปลูกป่าควบคู่กับการตัดต้นไม้ แต่ยังมีการลักลอบและบุกรุกป่าบ่อยครั้ง 

 นอกจากนั้นยังพบว่ามีบางคนแอบมาตัดต้นไม้ที่ปลูกไว้ซึ่งยังไม่เติบโตเต็มที่ ทำให้คุณพ่อเริ่มมองหาธุรกิจอื่น จนกลายมาเป็นบริษัทไบโอฟาร์ม เคมิคัลส์ จำกัด ในปี 2517  เริ่มจากเป็นตัวแทนนำเข้ายาสำเร็จรูปจากต่างประเทศ 

 ซึ่งช่วงนั้นเป็นจังหวะและโอกาสที่ดี เนื่องจากการนำเข้ายาในขณะนั้น ประเทศไทยมีโรงงานที่ทำอุตสาหกรรมด้านนี้น้อยมาก ยา จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ตลาดต้องการ บวกกับสินค้าที่นำเข้าจากยุโรปเป็นนวัตกรรมใหม่ มีคุณภาพสูง ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า

 หลังจากนั้นอีก 7 ปีต่อมา คุณพ่อจึงขยับขยาย โดยสร้างโรงงานของไบโอแลปที่มีนบุรี อีก 10 ปีต่อมาเรามีโรงงานแห่งที่ 2 อยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางปู ช่วงเวลานั้นคือรุ่นผม เริ่มเข้ามาบริหารต่อหลังจากคุณพ่อ คุณแม่ ท่านบุกเบิก สร้างฐานที่มั่นคงไว้ให้แล้ว 

 “รุ่นเจน 2 ของพี่ ๆ และผม คือการต่อยอด ทำให้ธุรกิจขยายไปสู่การส่งออก รวมถึงเน้นเรื่องการยกระดับมาตรฐานต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับสากลเพื่อเพิ่มและพัฒนาคุณภาพยาให้ดีขึ้น เพราะเรามีความเชื่อว่า คนไข้ เขาหวังพึ่งพายาที่ดีจากเรา ด้วยเหตุนี้เราจึงมุ่งเน้นการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง”

คุณรชฎ กล่าวว่า อุตสาหกรรมยา ถ้าพูดในแง่เครื่องจักรสำหรับผลิตยาเปรียบเทียบในกลุ่มอาเซียน ไทยเราถือเป็นพี่ใหญ่ เพราะเป็นประเทศแรกที่มีโรงงานเกิดขึ้นมากว่า 50 ปี เราเป็นต้นแบบที่ประเทศอาเซียนมาดูศึกษาและดูงานเภสัชกรรมและการผลิตเครื่องจักรผลิตยาที่มีความก้าวหน้า ขณะที่ ไบโอแลป ถือเป็นน้องเล็กในอุตสาหกรรมที่มีอายุประมาณ 40 ปี

ด้านคุณภาพยา เรื่องนี้เป็น Pain Point ของผู้ผลิตยาในประเทศ เพราะคนไทยกลุ่มที่มีกำลังซื้อมักจะเลือกยาจากต่างประเทศ ที่เป็นออริจินัล และมักจะด้อยค่ายาที่ผลิตในประเทศ

 ซึ่งมุมมองลูกค้าคือเมื่อเจ็บป่วย เขาจะเลือกยาที่คิดว่าดีที่สุด ทำให้อุตสาหกรรมยาช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ถูกเรียกว่ายาก๊อปปี้มาโดยตลอด ในความเป็นจริงแล้ว สิทธิบัตรที่บริษัทออริจินัลจดจะไม่ได้มีรายละเอียดที่จะนำไปผลิตตามแล้วได้ยาที่เหมือนกัน

 ไบโอแลป เรามีทีมวิจัยและพัฒนา ที่มีความสามารถในการพัฒนาสูตรตำรับ และขั้นตอนในการผลิต รวมทั้งมีการศึกษาชีวสมมูล เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับคนไข้ถึงคุณภาพยาที่เทียบเท่ากับยาที่จดสิทธิบัตร

 ส่วนเรื่องมาตรฐานการผลิต เราได้รับการรองรับจาก PIC/S  (Pharmaceutical Inspection Co-operation Scheme) ซึ่งเป็นมาตรฐานของยุโรป หลายปีที่ผ่านมาเขามีทีมงานที่ชัดเจนเรื่องการกำหนดมาตรฐาน เช่นที่เรารู้จักกันดีคือมาตรฐาน ISO

 เราจึงเลือกมาพัฒนาและขับเคลื่อนธุรกิจ ซึ่งยาจากอเมริกา  ญี่ปุ่น ก็เปลี่ยนมาใช้มาตรฐานนี้เช่นเดียวกันเพราะได้รับการยอมรับในระดับโลก

กว่าจะมาเป็น “ยา” ออกสู่ตลาด

 คุณรชฎ เผยว่า การศึกษาชีวสมมูลสำหรับยาสามัญ หลักในการทดสอบมาตรฐานของยา คือใช้อาสาสมัครที่ผ่านการคัดเลือกมา แล้วให้กินยาต้นแบบก่อนทำการเจาะเลือดเพื่อนำมาวิเคราะห์ว่ายามีการกระจายตัว และดูดซึมในร่างกายตามระยะเวลาเป็นอย่างไร จากนั้นให้เขากินอาหารตามปกติเพื่อให้ยาถูกขับจากร่างกาย แล้วจึงให้กินยาที่เราผลิต เพื่อนำข้อมูลมาเทียบกัน 

 สำหรับยาใหม่จะต้องศึกษาทางคลินิก ซึ่งมีมีหลายขั้นตอนและต้องใช้ระยะเวลาหลายปี เริ่มต้นจากเฟส 1 จะวัดผลเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก เฟส 2-3 จะดูเรื่องประสิทธิภาพในการรักษา แต่เฟส 2 ใช้จำนวนคนน้อยกว่า

 ทั้งนี้ การขึ้นทะเบียนงานวิจัย จะใช้ข้อมูลที่ทดสอบถึงเฟส 3 หลังจาก บริษัทออริจินัลเริ่มทำการตลาด อย. จะบังคับให้ทำเฟส 4 ต่อเพื่อศึกษาผลข้างเคียง คือต้องมอนิเตอร์และดูผลที่เกิดขึ้นในระยะยาวด้วย

ทำอย่างไร? ถึงเป็นบริษัทยาที่อยู่มานานกว่า 40 ปี 

 คุณรชฎ กล่าวว่า เรามี Passion ในการทำธุรกิจนี้ ฉะนั้น หากมาตรฐานที่กฎหมายบังคับเป็นอย่างไร เราตั้งใจจะทำเกินกว่านั้น จุดมุ่งหมายคือเพื่อให้คนไทยได้สินค้าที่ได้มาตรฐานที่ดี  แม้บางเรื่อง หน่วยงานของไทยยังไม่บังคับ แต่ของยุโรปเขามีแล้ว เราจะหากระบวนการพัฒนาเพื่อไปให้ถึงระดับนั้น โดยเงื่อนไขคืออยู่ในต้นทุนที่เราควบคุมได้ 

 ผู้ประกอบการหลายคนอาจจะคิดว่า ทำให้ผ่านมาตรฐานของ อย. ก็เพียงพอแล้ว แต่บริษัทเราไม่คิดแบบนั้นเนื่องจากเราไปถึงระดับที่ส่งออกไปหลายประเทศ และรู้ว่าสินค้าที่จะส่งออกต้องมีมาตรฐานสูงมาก วิธีคิดของเรา คือPassion ของเราเป็นอย่างไร ต้องถ่ายทอดให้คนในองค์กรรู้และเข้าใจด้วย ตั้งแต่ระดับบริหาร ผู้จัดการ พนักงาน ทุกคนต้องมีจิตวิญญาณ วัฒนธรรม และจุดมุ่งหมายในทิศทางเดียวกัน”

 เรื่องการบริหารคนในองค์กร เป็นสิ่งที่ท้าทายและสำคัญมาก เราจึงมีการฝึกอบรมพนักงานในทุกระดับขั้น เพื่อพัฒนาทักษะ รวมถึงวัดประสิทธิภาพพนักงานอยู่เสมอ เพราะเราเชื่อว่าการรวมคนที่งานร่วมกัน หากทุกคนมีความเชื่อ และตั้งใจว่าจะต้อง มุ่งมั่น พัฒนาสินค้าให้ออกมามีคุณภาพ-มาตรฐานที่ดี คนที่ได้ประโยชน์มากที่สุดคือ ‘ลูกค้า’

Business Model  แบบ ‘คุณรชฎ ถกลศรี’

 ส่วนหนึ่งเรามีการกำหนดกลยุทธ์ต่าง ๆ จากคณะกรรมการบริหาร นอกจากนั้น จะมีการทำงานร่วมกันแบบทีมเวิร์ค ทุกคนสามารถนำเสนอไอเดียต่าง ๆ มาแชร์กัน แล้วหล่อหลอมออกมาเป็นกลยุทธ์ที่ดี อีกหนึ่งสิ่งที่เป็นวัฒนธรรมองค์กรเรา คือการรับฟังความคิดเห็น แล้วนำมาปรับใช้ รวมถึงการหาวิธีบริหารต้นทุนและคุณภาพให้อยู่ในจุดสมดุล และเหมาะสมที่สุด 

 โรงงานในอุตสาหกรรมยาสามัญจำเป็นต้องแข่งขันด้านราคา โดยยังคงรักษาระดับคุณภาพ จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีนวัตกรรมด้านการเพิ่มผลผลิต

เรามีทีมงานด้านการพัฒนานวัตกรรมการเพิ่มผลผลิตโดยเฉพาะ ซึ่งจะติดตามข้อมูล อัปเดต และมอนิเตอร์แบบ Real Time ในขั้นตอนการพัฒนาด้าน Productivity เพื่อให้ได้ตามเป้าหมาย อีกทั้งไบโอแลป มีทีมไอทีของตัวเอง เป็นทีมขนาดใหญ่มีประสบการณ์สูง เรามองว่าส่วนนี้จำเป็นมากสำหรับขับเคลื่อนธุรกิจ เรามีการประเมินผลงาน และให้ผลตอบแทนที่สูง เพราะเรามองว่าส่วนที่ดูแลด้านเทคโนโลยี หรือเรื่องออโตเมชั่นเพื่อเพิ่ม Productivity สำคัญไม่แพ้กัน

 นอกจากนี้ สิ่งที่เป็นแนวคิดของการทำธุรกิจให้เติบโต เราถึงจุดที่มองว่าโปรแกรมเมอร์ เป็นผู้นำข้อมูลเข้าระบบ แต่การนำข้อมูลมาเปลี่ยนให้เป็น Innovation แล้วทำให้เป็น Knowledge ต้องใช้ Super User คือผู้ใช้งานจริงที่สามารถนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ และประมวลผลออกมาเป็นแนวทาง และนำมาปฏิบัติจนเกิดผลสัมฤทธิ์ในการพัฒนาองค์กร

อุตสาหกรรมยา กับ Digital Transformation

 ล่าสุด โรงงานของไบโอแลป มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์ เรามองว่าการนำเอาเทคโนโลยีสีเขียวมาใช้เป็นมาตรฐานที่ควรมี แต่ติดตั้งแล้วควรรู้ว่าสมรรถภาพของเซลล์แสงอาทิตย์ หรือ Performance Ratio (PR) ที่ได้จากแผงกี่เปอร์เซ็นต์ ตามปกติในโรงงานอุตสาหกรรมที่ติดตั้งจะได้ %PR อยู่ที่ 81-82 เปอร์เซ็นต์ แต่เราทำได้ 90 เปอร์เซ็นต์ 

 ที่เราได้มากกว่า มาจากการนำฐานข้อมูล วิเคราะห์อย่างละเอียด สิ่งเหล่านี้ เป็นการเพิ่มเรื่องประสิทธิภาพ (Efficiency) ของการผลิต เราไม่ได้รายงานผลแบบรายเดือน แต่เป็นรายชั่วโมง นี่เป็นเรื่องของการนำนวัตกรรม 4.0 มาใช้ ไม่ใช่แค่ลงทุน ติดตั้ง แต่ต้องมีองค์ความรู้แบบรอบด้าน”

 การเซ็ตทีมงานไม่ใช่เรื่องง่าย องค์กรเราใส่ใจทุกรายละเอียด และมีการฝึกอบรมพนักงาน รวมถึงต้องมีการคิดเชิงวิเคราะห์ (Analytical thinking) ความยากของการทำธุรกิจ ไม่ใช่เรื่องการลงทุนอย่างเดียว แต่ต้องโน้มน้าวให้พนักงานเห็นคุณค่า และประโยชน์ของการ Transformation

ยกตัวอย่างเช่น ผมบอกกับเจ้าหน้าที่วิศวกรคนหนึ่งว่า ทำไมถึงต้องมานั่งจดข้อมูล คีย์ และวิเคราะห์ ถ้ากระบวนการนี้เราทำให้มันมาเองได้ ทุกวันนี้เราเสียเวลา 80-90% ไปกับการจดบันทึกข้อมูลเพื่อนำมาใช้ 10% ของเวลาที่เหลือ ใช้วิเคราะห์ แต่ไม่รู้ว่าวิเคราะห์แล้วใช้ได้จริงไหม  

 พนักงานจะมี 2 ลักษณะคือ คนที่ทำงานตามสั่ง จะคิดว่า ถ้ามีอะไรเสีย เดี๋ยวผมซ่อมให้” กับอีกแบบหนึ่งคือเขาจะบอกว่า “ถ้ามีปัญหาตรงไหน ผมจะเอาเซ็นเซอร์ไปติด แล้วเฝ้าระวัง คือ ซ่อมก่อนที่จะเสีย” แบบที่ 2 คือทักษะการทำงานในอนาคต คุณจะเติบโตในหน้าที่การงานไม่ว่าจะทำที่ไหน ต้องมีทักษะนี้ เป็นอีกขั้นหนึ่งที่ต้องมาจากความคิดของพนักงานจริง ๆ 

 Digital Transformation มีความจำเป็น แต่องค์กรเรา อาจจะไม่เน้นมากเท่ากับการปลูกฝังคนให้มีแนวคิดใหม่ ๆ ว่า “เมื่อคุณมีความรู้ จะเอาสิ่งนั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์กับการทำงานยังไง” ถ้าเขาซึมซับความคิดแบบนี้ได้ มีการ Up-skill และ Re-skill อย่างเหมาะสม จะทำให้ประสิทธิภาพการทำงานดีขึ้น

ไขความสำเร็จ จากบริษัทอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจรแถวหน้า 

คุณรชฎ สะท้อนแนวคิดว่า SME ต้องรู้จักธุรกิจของตัวเองให้ดีก่อน ต้องรู้ปัญหาเพื่อแก้ไขอย่างตรงจุด แล้วพัฒนาต่อ ธุรกิจอุตสาหกรรมยามีโจทย์หินหลายอย่าง โดยเฉพาะเรื่องการรักษาคุณภาพ และมาตรฐาน

 สิ่งสำคัญที่สุด คือการสื่อสารให้ทีมงาน เรียนรู้ และเข้าใจถึงแก่นว่าลูกค้าได้ประโยชน์อะไรจากเรา และหน้าที่ที่แท้จริงของเรามีอะไรบ้าง องค์กรยิ่งใหญ่แค่ไหน ยิ่งต้องมี Job Descriptions ที่ชัดเจน

ถ้าคุณเป็นพนักงานจบใหม่ ทำงาน มีประสบการณ์ 3-4 ปี จนก้าวสู่ระดับ Managerial จะต้องรู้ทุกกระบวนการทำงาน เพราะถ้าคุณไม่รู้ นั่นคืออุปสรรคที่ทำให้คุณไม่เติบโตทั้งตัวคุณเองและบริษัทด้วย

 ดังนั้น เมื่อก้าวมาอยู่ในระดับของผู้จัดการ ต้องขยายเซฟโซน และรู้ว่าใคร ต้องการอะไรจากเรา และเราจะทำยังไงให้คนอื่น หรือลูกค้ามีชีวิตที่ดีขึ้น นี่คือสิ่งที่ต้องมี ถ้ามีไม่ได้...คุณก็โตไม่ได้

ขอบคุณที่มา : SME in Focus (30/07/2023) ธนาคารกรุงเทพ

Privacy & Cookies Policy

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดย